ชื่อเรื่อง           การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนประวัติศาสตร์เพื่อส่งเสริมความสามารถ               ในการคิดวิเคราะห์  ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 

ผู้วิจัย             นายชัยพิพัฒน์  แหวนหล่อ 

ปีการศึกษา      2564

 

บทคัดย่อ

 

          การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์  1) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนประวัติศาสตร์เพื่อส่งเสริม ความสามารถในการคิดวิเคราะห์  ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  2) เพื่อศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอนประวัติศาสตร์เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในงานวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  5  โรงเรียนราษีไศล  ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1  ปีการศึกษา 2564  จำนวน  31 คน   ซึ่งได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย (Simple  Random  Sampling)  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย  รูปแบบการเรียนการสอนประวัติศาสตร์  แผนการจัดการเรียนรู้  แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิชาประวัติศาสตร์ แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  สถิติทดสอบ     t-test (Dependent Samples)และการวิเคราะห์เนื้อหา

 

          ผลการวิจัย  พบว่า

          1.  รูปแบบการเรียนการสอนประวัติศาสตร์เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์        ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  มีชื่อว่า ?TPRAPE  Model? มีองค์ประกอบ คือ หลักการ  วัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนการสอนและเงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ กระบวนการเรียนการสอน  มี  6 ขั้นตอน คือ  1) ขั้นการเลือกหัวข้อเรื่องที่จะศึกษา(Topic Selection: T) 2) ขั้นการวางแผน (Planning: P)  3) ขั้นการเข้าถึงข้อมูล(Retrieving: R) 4) ขั้นวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล(Analysis and Synthesis: A)    5) ขั้นนำเสนอข้อมูล (Presentation: P)  และ 6) ขั้นการประเมิน(Evaluating: E) โดยที่รูปแบบ   การเรียนการสอนประวัติศาสตร์เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 (TPRAPE  Model) ที่พัฒนาขึ้นมานี้   มีประสิทธิภาพเท่ากับ  81.97/80.24       ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์  80/80  ที่กำหนดไว้

 

          2.  หลังการจัดการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอน นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาประวัติศาสตร์  สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .01

          3.  ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนที่เรียนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอน พัฒนาขึ้นในช่วงเวลาระหว่างเรียน

          4. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอนโดยภาพรวมอยู่ในระดับ   เห็นด้วยมากที่สุด